ปฎิทินG12

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กำเนิดของชื่อและความหมายของปารีสเมืองน่าอยู่

                                         
กำเนิดของชื่อและความหมายของปารีส
                                       
คำว่า ปารีส ออกเสียง /พาริส/ [ˈparɪs] หรือ /แพริส/ [ˈpæɹɪs] ในภาษาอังกฤษ และ /ปารี/ [paʁi] ในภาษาฝรั่งเศส เป็นคำที่มาจากชื่อเผ่าหนึ่งของชาวโกล เป็นที่รู้จักกันในนาม "ปารีซี" (Parisii) ซึ่งเป็นชาวเมืองที่อาศัยในสมัยก่อนโรมัน โดยที่เมืองมีชื่อเดิมว่า "ลูเทเชีย" (ละติน: Lutetia) (ชื่อเต็ม "Lutetia Parisiorum" แปลว่า ลูเทเชียแห่งปารีซี) ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1 ถึง 6 ในช่วงที่อาณาจักรโรมันยึดครอง แต่ในช่วงการครองราชย์ของจูเลียน ดิ อโพสเทต (พ.ศ. 904 - พ.ศ. 906) ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "ปารีส"[11]
ปารีสมีชื่อเล่นมากมาย แต่ชื่อที่โด่งดังที่สุดคือ "นครแห่งแสงไฟ" (ฝรั่งเศส: La Ville-lumière) ซึ่งหมายความว่าเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนและความรู้ ทั้งยังหมายความว่าเป็นเมืองที่สว่างไสวเต็มไปด้วยแสงไฟอีกด้วย ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นครปารีสมีชื่อเรียกในภาษาแสลงว่า "ปานาม" (ฝรั่งเศส: Paname [panam]) เช่น ชาวปารีสมักแนะนำตนเองว่า "มัว, เชอซุยเดอปานาม" (ฝรั่งเศส: Moi, je suis de Paname) หรือ "ฉันมาจากปานาม"
พลเมืองชาวปารีสเป็นที่รู้จักกันในนาม "ปารีเซียน" (Parisian) ("พาริเซิน" หรือ "แพริเซิน" [pʰəˈɹɪzɪənz / pʰəˈɹiːʒn̩z]) ในภาษาอังกฤษ หรือ "ปารีเซียง" [paʁizjɛ̃] ในภาษาฝรั่งเศส โดยคำนี้ บางครั้งจะถูกเรียกอย่างดูถูกว่า ปารีโก (Parigots) [paʁigo] โดยประชาชนที่อาศัยนอกแคว้นของปารีส แม้ว่าบางครั้งชาวปารีเซียงจะชอบพอกับคำนี้ก็ตาม

ประวัติศาสตร์ปารีส
ยุคเริ่มต้น
หลักฐานทางโบราณคดีในการตั้งถิ่นฐานบริเวณปารีสตั้งแต่ 4,200 ปีก่อนคริสต์ศักราชคือพวกปาริซี่ ซึ่งเป็นเผ่าย่อยของพวกเซลติกซีนอนส์ โดยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ชำนาญทางเรือและการค้าขาย ได้อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแซนตั้งแต่ 250 ปีก่อนคริสต์ศักราชเป็นต้นมา ต่อมาพวกโรมันได้ชัยชนะยึดครองที่ราบลุ่มปารีสใน 52 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในตอนปลายของศตวรรษเดียวกันบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน, เนินเขาแซนต์-เชอเนอวีแอฟและเกาะอีล เดอ ลา ซิเต้ เมืองดังกล่าวนี้เดิมเรียกว่า "ลูเทเชีย" (Lutetia) แต่ต่อมาได้ทำให้เป็นชื่อในภาษาโกลเป็น "ลูแตส" (Lutèce) ตัวเมืองได้ขยายอย่างรวดเร็วในศตวรรษต่อๆ มาและกลายเป็นเมืองที่ร่ำรวย เต็มไปด้วยตลาด ราชวัง อ่างอาบน้ำ วัดวาอาราม โรงละครและโรงมหรสพใหญ่ เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายและการบุกของเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ทำให้ "ลูแตส" อยู่ในช่วงตกต่ำและทรุดโทรม ในปี พ.ศ. 943 พลเมืองจำนวนมากได้อพยพออกจากเมืองลูแตส และหลังการยึดครองอีกครั้งหนึ่งของพวกโรมัน เมือง "ลูแตส" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ปารีส"


ยุคกลาง
ปราสาทลูฟร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15
ประมาณปี พ.ศ. 1043 ปารีสได้กลายเป็นเมืองหลวงของกษัตริย์โกลวิสที่ 1 แห่งแฟรงค์ เมื่อโกลวิสที่ 1 ได้สวรรคตลง อาณาจักรแฟรงค์ได้ถูกแบ่งออก และปารีสได้กลายเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสระขนาดเล็ก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 สมัยราชวงศ์กาโรแล็งเชียง เมืองปารีสได้กลายเป็นเขตฐานกำลังของพวกศักดินา เค้านต์แห่งปารีสมีอำนาจมากขึ้น จนกระทั่งมีอำนาจมากกว่ากษัตริย์แห่งแฟรงค์ตะวันตก (Francie occidentale) เสียด้วยซ้ำไป เค้านต์แห่งปารีสนามว่า "โอโด" (Odo) ได้ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์แทนชาร์ลส์ที่ 3 (ชาร์ลส์ อ้วน - Charles III le Gros) เนื่องจากชื่อเสียงอันโด่งดังของเขาที่ได้ป้องกันเมืองปารีสจากการโจมตีของพวกไวกิง (ศึกปารีส (พ.ศ. 1428 - พ.ศ. 1429)) แม้ว่าอีล เดอ ลา ซิเต้จะรอดจากการโจมตีของพวกไวกิง แต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนที่ไม่มีการป้องกันก็ถูกทำลายอย่างย่อยยับ และแทนที่จะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน ชาวปารีสได้เริ่มที่จะขยายตัวเมืองไปทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำแซนแทน ในปี พ.ศ. 1530 อูช กาเปต์ (Hugh Capet) เค้านท์แห่งปารีสได้ถูกเลือกให้กลายเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์กาเปเตียงและทำให้เมืองปารีสเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส
ตั้งแต่ พ.ศ. 1733 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 (Philippe Auguste) ได้สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบปารีสโดยมีลูฟร์เป็นป้อมปราการฝั่งตะวันตกและต่อมาในปี พ.ศ. 1743 ได้ตั้งมหาวิทยาลัยปารีสขึ้นมาซึ่งทำให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามายังปารีสเป็นจำนวนมาก ในช่วงนี้เองที่เมืองปารีสได้พัฒนาในหลายๆ ด้านซึ่งในปัจจุบันยังมีให้เห็นเช่น เกาะ (อีล เดอ ลา ซิเต้) เป็นที่ตั้งรัฐบาลและสถาบันสอนศาสนา ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนเป็นที่ตั้งสถาบันทางการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ ส่วนทางฝั่งขวาของแม่น้ำแซนเป็นที่ตั้งของการค้าขายและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของปารีส เช่น ตลาดเลส์ อาลส์ (Les Halles)
ปารีสไม่ได้เป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสหลังจากถูกโจมตีโดยพันธมิตรของประเทศอังกฤษคือพวกบูร์กงด์ (Burgondes) ในสงครามร้อยปี แต่ก็กลับมาเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 1980 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 (Charles VII, le Victorieux) สามารถยึดกรุงปารีสกลับคืนมา แม้ว่ากรุงปารีสเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7ก็ตัดสินใจที่จะประทับ ณ ปราสาทหุบเขาลัวร์ ต่อมาในช่วงสงครามศาสนาของฝรั่งเศส (Guerres de religion) กรุงปารีสเป็นฐานกำลังหลักของพวกคริสต์นิกายคาทอลิก โดยรุนแรงสุดในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมวันแซงต์-บาร์เตเลมี (Massacre de la Saint-Barthélemy) ในปี พ.ศ. 2115 ต่อในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าอองรีที่ 4 ได้ก่อตั้งราชสำนักในกรุงปารีสอีกครั้งหนึ่งหลังจากยึดเมืองมาจากพวกคาทอลิก ระหว่างสงครามกลางเมืองฟรงด์ (Fronde) ชาวปารีสได้ลึกฮือขึ้นประท้วงและก่อการจลาจล ซึ่งเป็นสาเหตุให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย หลบหนีออกจากกรุงปารีสในปี พ.ศ. 2191 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ย้ายราชสำนักอย่างถาวรไปยังแวร์ซายส์ในปี พ.ศ. 2225 ศตวรรษต่อมากรุงปารีสเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการโจมตีคุกบาสตีย์ในปี พ.ศ. 2332 และล้มระบอบกษัตริย์ในปี พ.ศ. 2335

คริสต์ศตวรรษที่ 19
การปฏิวัติอุตสาหกรรม จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2และยุคสวยงาม (Belle Époque) ช่วยนำพากรุงปารีสไปสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1840 เป็นต้นมา การเดินทางโดยรถไฟทำให้มีประชากรจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามายังกรุงปารีสเพื่อมาทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ กรุงปารีสได้ผ่านการบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3และบารง โอสมานน์ ซึ่งได้เปลี่ยนถนนเล็กๆ ในยุคกลางจนกลายเป็นถนนขนาดกว้างและมีตึกรามบ้านช่องร่วมสมัยจำนวนมากมาย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้กรุงปารีสมีความสวยงามและความสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม ถึงกระนั้นก็มีประโยชน์ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ปฏิวัติหรือเหตุการณ์รุนแรง เพราะกองทหารม้าและปืนไรเฟิลสามารถต่อกลอนกับกลุ่มพวกจลาจล ในขณะที่กลยุทธ์ในการซุ่มโจมตีหรือสกัดกั้นที่ใช้มากในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสจะเป็นการล้าสมัย
ในปี พ.ศ. 2375 และ พ.ศ. 2392 อหิวาตกโรคระบาดพลเมืองชาวปารีส แค่การระบาดในปี พ.ศ. 2375 เท่านั้นก็มีผู้ป่วยกว่า 20,000 คนจากประชากร 650,000 ในขณะนั้น กรุงปารีสยังได้เสียหายครั้งยิ่งใหญ่หลังจากสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2414) , การโค่นล้มจักรพรรดินโปเลียนที่ 3, เทศบาลปารีส (La Commune de Paris - พ.ศ. 2414) ได้ทำให้กรุงปารีสลุกเป็นไฟหลังจากการต่อสู้กันระหว่างเทศบาลกับรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันในนาม "สัปดาห์แห่งเลือด" (Semaine sanglante)
กรุงปารีสได้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะจัดงานนิทรรศการนานาชาติ 1889 (พ.ศ. 2432) ทั้งนี้ได้มีการสร้างหอไอเฟลเพื่อเฉลิมฉลองการปฏิวัติฝรั่งเศสครบรอบ 100 ปี เพื่อแสดงถึงศักยภาพของประเทศฝรั่งเศสในด้านวิศวกรรมศาสตร์แค่ "ชั่วคราว" เท่านั้น ซึ่งสิ่งก่อสร้างชิ้นนี้ได้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลกจนถึงปี พ.ศ. 2473 และกลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีสไปโดยปริยาย ส่วนงานนิทรรศการนานาชาติ 1900 (พ.ศ. 2443) ได้มีการเปิดตัวรถไฟฟ้าปารีสเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็ได้มีการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าต่างๆ มากมายซึ่งทำให้กรุงปารีสเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและดึงดูดชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

คริสต์ศตวรรษที่ 20
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กรุงปารีสได้อยู่ในแนวหน้าของการรบ โดยรอดจากการโจมตีของเยอรมนีไปได้ที่สงครามแห่งมาร์นในปี พ.ศ. 2457 ในช่วงปี พ.ศ. 2461 - พ.ศ. 2462 กรุงปารีสได้กลายเป็นที่สวนสนามแห่งชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรและเป็นที่เจรจาสันติภาพอีกด้วย ในช่วงระหว่างสงคราม กรุงปารีสได้มีชื่อเสียงจากศิลปวัฒนธรรมต่างๆ และชีวิตยามค่ำคืน เมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมของจิตรกรชื่อดังทั่วโลก ตั้งแต่นักประพันธ์ชาวรัสเซีย สตราวินสกี จิตรกรชาวสเปน ปีกัสโซและดาลีจนถึงนักประพันธ์ชื่อดังชาวอเมริกันอย่างเฮมิงเวย์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483 5 สัปดาห์หลังจากการเริ่มต้นของสงครามแห่งฝรั่งเศส กรุงปารีสได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพนาซีเยอรมันจนกระทั่งการปลดปล่อยปารีสในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 2 เดือนหลังจากการบุกนอร์มองดีของฝ่ายสัมพันธมิตร


อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในกรุงปารีส โดยข้างหลังเป็นหอไอเฟล ปี พ.ศ. 2483
กรุงปารีสได้ยืดหยัดท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2โดยไม่ได้รับความเสียหายใดๆ เนื่องจากภายในกรุงปารีสไม่มีเป้าทางยุทธศาสตร์สำหรับฝ่ายสัมพันธมิตรในการวางระเบิด (สถานีรถไฟในกรุงปารีสเป็นเพียงแค่สถานีปลายทาง โรงงานที่สำคัญๆ ตั้งอยู่บริเวณชนบททั้งสิ้น) และด้วยความสวยงามทางวัฒนธรรม ทำให้พลเอกดีทริช ฟอน โชลทิทซ์ (General der Infanterie Dietrich von Choltitz) นายทหารเยอรมันขัดคำสั่งของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในการทำลายกรุงปารีสและอนุสาวรีย์ที่สำคัญก่อนการถอนทหารเยอรมันออกจากปารีส ทำให้ชาวฝรั่งเศสบางคนมองว่าพลเอกดีทริช ฟอน โชลทิทซ์เป็นผู้ช่วยเหลือกรุงปารีส
ในยุคหลังจากสงคราม ปารีสได้มีการพัฒนาอย่างครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งหลังจากสิ้นสุดยุคสวยงาม (Belle Époque - พ.ศ. 2457) พื้นที่ในชนบทขยับขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง และมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยอย่างมากมาย ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของลา เดฟองซ์ (La Défense) ศูนย์กลางด้านธุรกิจของประเทศฝรั่งเศส มีการสร้างรถไฟแอร์เออแอร์ ต่อจากรถไฟฟ้าปารีส เพื่อที่จะรองรับการขนส่งมวลชนในชนบท ส่วนการสร้างถนนนั้น มีการสร้างถนนเปรีเฟริก (Boulevard périphérique de Paris) ซึ่งเป็นถนนวงแหวน 8 เลนล้อมรอบกรุงปารีส
ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เขตชนบทชั้นในหลายแห่งของปารีส (โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออก) มีการลดการผลิตทางอุตสาหกรรมลงไป และเขตที่มีการเติบโตได้ค่อยๆ กลายเป็นเขตแออัดที่เต็มไปด้วยพวกอพยพและตกงาน ในขณะเดียวกัน เมืองปารีส (ภายในวงแหวนเปรีเฟริก (Périphérique)) และชนบทฝั่งตะวันตกและใต้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนฐานเศรษฐกิจของตนเอง จากการผลิตสินค้าย่อยๆ จนกลายเป็นอุตสาหกรรมด้วยการบรีการและเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในแถวนั้นมีความร่ำรวย ส่งผลให้บริเวณนั้นมีรายได้ต่อคนสูงที่สุดในทวีปยุโรป ด้วยเหตุที่มีช่องว่างระหว่างชนชั้นในทั้งสองแห่งทำให้เกิดความไม่สงบอยู่เป็นบางครั้งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 หรือเช่นในปี พ.ศ. 2548 เกิดเหตุไม่สงบในชนบททางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส


เดฟองซ์ ย่านธุรกิจที่สำคัญในกรุงปารีสภูมิศาสตร์

ปารีสตั้งอยู่บนแม่น้ำแซน ซึ่งรวมถึงเกาะอีกสองเกาะคือ อีล แซงต์-หลุยส์ (Île Saint-Louis) และ อีล เดอ ลา ซิเต้ (Île de la Cité) ซึ่งเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง ภูมิประเทศของปารีสโดยรวมคือ เป็นที่ราบลุ่ม โดยมีจุดต่ำสุดอยู่ที่ 35 เมตร (114 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ทั้งยังมีเนินเขาอีกหลายแห่ง เนินเขาที่สูงที่สุดคือ มงต์มาร์ตร์ (Montmartre) (130 เมตร (426 ฟุต)) พื้นที่ของปารีส ซึ่งไม่รวมสวนสาธารณะบัวส์ เดอ บูโลญ (Bois de Boulogne) และบัวส์ เดอ แวงแซนน์ (Bois de Vincennes) คือประมาณ 86.928 ตารางกิโลเมตร (33.56 ตารางไมล์) การแบ่งและรวมเขตครั้งสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดคือในปี พ.ศ. 2403 ซึ่งทำให้มีขนาดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งยังทำให้เกิดเขต (Arrondissement) ที่หมุนรอบๆ ตามเข็มนาฬิกาอีกด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2403 เป็นต้นมา เมืองปารีสมีขนาด 78 กม.² (30.1 ม.²) และได้ขยายออกไปเป็น 86.9 กม.² (34 ม.²) ในปี พ.ศ. 2463 และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา สวนสาธารณะบัวส์ เดอ บูโลญและบัวส์ เดอ แวงแซนน์ได้ผนวกกับตัวเมืองปารีสอย่างเป็นทางการ ทำให้กรุงปารีสมีขนาด 105.397 กม.² (40.69 ม.²) จนถึงปัจจุบัน ขนาดของกรุงปารีสหรือเขตเมืองปารีสนั้นมีการขยายตัวออกไปเกินเขตเมือง ทำให้เกิดรูปร่างเป็นวงรี ขยายตัวไปตามแม่น้ำแซนและแม่น้ำมาร์น ทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง และตามแม่น้ำแซนและแม่น้ำอวส ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ และถ้าเลยไปยังชนบท ความหนาแน่นของประชากรจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากมีป่าและที่ดินไว้สำหรับการเพาะปลูก อย่างไรก็ตามเขตมหานครปารีส (Agglomération parisienne) มีเนื้อที่ถึง 14,518 กม² (5,605.5 ไมล์²) ซึ่งใหญ่กว่าเนื้อที่กรุงปารีสถึง 138 เท่า



ภูมิอากาศ
ปารีสมีภูมิอากาศแบบมหาสมุทร ซึ่งมีผลมาจากกระแสน้ำแอตแลนติกเหนือ เพราะฉะนั้นอุณหภูมิในเมืองไม่ค่อยมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป อุณหภูมิเฉลี่ยของกรุงปารีสคือ 15 °C (59 °F) และจะอยู่ราว 7 °C (45 °F) สถิติอุณหภูมิสูงที่สุดที่วัดได้คือ 40.4 °C (104.7 °F) ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 และต่ำที่สุดที่เคยวัดได้คือ −23.9 °C (−11.0 °F) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2422 เมืองปารีสได้ประสบกับอุณหภูมิร้อนจัดในปี พ.ศ. 2547 และหนาวจัดในปี พ.ศ. 2549 มาเอง
ฝนสามารถตกทุกเมื่อ และปารีสก็เป็นที่รู้จักดีกับฝนตกฉับพลัน ปารีสมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 641.6 มม. (25.2 นิ้ว) ต่อปี ส่วนหิมะมักจะเกิดขึ้นน้อยครั้ง ส่วนมากมักจะตกในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ (แต่เคยตกถึงเดือนเมษายนมาแล้ว) และไม่ค่อยพบว่าหิมะตกติดต่อกันเกินวัน



                                                                     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น